ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 1 บทนำ


ทริปรัสเซีย ครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจาก
ตั๋วถูก! 💲💲💲💲💲💲
ไปกลับ สายการบินการ์ต้า 12,000 บาท 😍
โอ้ววววว สอยเลย ไม่ต้องถามหาสติ 😀



ประเทศรัสเซีย

ถึอเป็นอีกประเทศในฝันของใครหลายๆ คน
เรารู้จักรัสเซียจาก ... จิ๊กซอว์😦

เอ่อ ... ไอ้จิ๊กซอว์รูปโบสถ์หัวหอมสีลูกกวาดนั่นแหละ
กับภาพวาด ภาพถ่าย ของโบสถ์ ที่มักจะเป็นตามร้านต่างๆ
เห็นบ่อยจนบางครั้งก็อยากจะไปเห็นกับตาดูสักครั้ง
ปูตินขี่หมีขาว อะไรนั่น มันเป็นเรื่องหลังจากนั้น


มาเกริ่นๆ เรื่องการเตรียมตัวก่อนและข้อมูลต่างๆ ของรัสเซียกันก่อนดีกว่า



🍀 การขอวีซ่า

โน โน 👋
ประเทศไทยไม่ต้องขอวีซ่านะจ๊ะ อยู่เที่ยวได้นาน 30 วันแน่ะ 😏
แต่บางทีตม. ก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะงั้น
อย่าลืมโหลดข้อตกเรื่องวีซ่าระหว่างไทยกับรัสเซีย (ฉบับภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย ติดไปด้วย)
👉 ภาษารัสเซีย กด 1
👉 ภาษาอังกฤษ กด 2



🍀 ตม.

ตม. ที่นี่ไม่ค่อยถามอะไรมาก แต่เช็ครายละเอียดค่อนข้างนาน
เวลาไปถึง ให้ดึง Cover ออกจาก Passport (เค้าเน้นเรื่องนี้มาก)
ยื่น Passport ร่างเปลือย พร้อม Boarding pass ส่งให้ตม.
ส่วนเอกสารอื่นๆ รอเรียก (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เรียก)

เค้าจะพยายามเช็ครูปในพาสปอร์ตกับหน้าเราอย่างละเอียด (ถอดแว่นด้วย)
จากนั้นก็จะปรินท์ใบตรวจคนเข้าเมือง มาให้เราเซ็น
ซึ่งจะมี 2 ส่วน ส่วนขาเข้า (Arrival) จนท. เก็บไว้ ส่วนขาออก (Departure) เราเก็บไว้
ใบตม. นั้น ให้รักษาไว้เท่าชีวิต!!




VISA Registration 🍀

ถึงแม้ว่า รัสเซียจะอนุญาตเราอยู่ที่ประเทศเค้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า
แต่ก็มีวีซ่าอีกประเภทนึงที่ต้องทำ เมื่อไปเยือนรัสเซีย นั่นคือ Visa Registration

เป็นเหมือนการลงทะเบียนว่า ระหว่างอยู่ที่นั่น เราไปพักที่ไหนมาบ้าง
โดยเจ้าบ้าน คือ โรงแรม, โฮสเทล หรือคนที่เราไปพักด้วย ต้องเป็นคนจัดการให้เรา
อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อันนี้แล้วแต่เค้าจะเรียกเก็บ

การทำวีซ่า หากเราพักที่รัสเซียเกิน 7 วันทำการ ต้องทำวีซ่ารีจิสเตอร์
ซึ่งตรงนี้ถ้าหลายคนไปอ่านข้อมูลมา ก็จะงงๆ หน่อย ว่าตกลงแล้วต้องทำยังไงบ้าง
ตามความเข้าใจ (แบบมั่วๆ เพราะอ่านมาหลายรอบก็ยังงงอยู่ดี) ก็ตามนี้

นับยังไง?
นับวันที่อยู่ในรัสเซียรวมกันทุกเมือง ไม่ต้องแยกว่า อยู่เมืองนี้ 3 วัน อยู่เมืองโน้น 4 วัน หรอก
นับรวมกันทั้งหมดนั่นแหละ แล้วหักวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด ออกไป เกิน 7 วันก็ทำไว้ก่อน

ต้องทำที่ไหนบ้าง?
ทำทุกที่ที่ไปพัก ไม่สนว่าที่นั่นจะอยู่กี่วัน
แต่ๆ ถ้าเป็นโฮสเทล เค้าจะบอกว่า หากพักแค่คืนเดียว จะไม่สามารถทำให้ได้
ตามที่เข้าใจคือ เค้าต้องไปยื่นเรื่องทำวีซ่า ณ ที่ทำการท้องถิ่นด้วย แล้วจะเอกสารมาในอีกวันนึง
ซึ่งหมายความว่า เราอาจจะเช็คเอาต์ออกไปก่อนแล้ว ไม่ทันได้รับเอกสาร

ถ้านอนรถไฟ หรือเครื่องบิน ก็ไม่ต้องทำอะไร เก็บตั๋วไว้ก็พอ

เริ่มทำเมื่อไหร่?
ลงทะเบียนไม่เกิน 7 วัน (รวมเสาร์ อาทิตย์) หลังจากที่มาถึงประเทศรัสเซีย
ปล. ช่วงเราไป เป็นช่วงพรีบอลโลก เค้าเปลี่ยนกฎให้ทำภายใน 24 ชม.
แต่เนื่องจากเรานอนที่ Moscow คืนเดียว ทางโฮสเทลไม่ยอมทำให้ ก็เลยต้องเลยตามเลย
แล้วไปทำอีกทีที่ St.Petersburg (ผ่านไป 2 วัน)

เอกสารที่ใช้?
Passport กับใบตรวจคนเข้าเมืองที่ตม. ให้มา (ต่อไปเราจะเรียกใบนี้ว่า ใบตม. หรือใบเข้าเมือง ละกัน)
ซึ่งใบสีขาวนี้ได้มาหลังจากผ่านตม. แล้ว
ต้องเก็บไว้ดีๆ เวลาลงทะเบียนอะไร เค้าจะขอดูใบนี้ด้วย และต้องยืนให้ตม. ตอนขาออก
แต่ใบรีจิสเตอร์ไม่ต้องยื่นไปนะ ถ้าเค้าไม่ได้ขอ

สำคัญมั้ย?
มันเอาไว้ป้องกันตัวเอง จากตำรวจ หรือตม. เวลาเค้าร้องขอน่ะ
ซึ่งส่วนใหญ่ก็บอกว่า ไม่เคยขอ
แต่เราว่าเซฟตัวเองไว้ดีกว่า เสียเงินนิดหน่อย (บางที่ก็ฟรี) แลกกับความสบายใจ

ตอนทำก็ไม่ได้เสียเวลามาก เค้าแค่บันทึกข้อมูล Passport กับใบตม. ของเราไว้
หลังจากนั้น เราจะไปไหนก็ได้ละ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเค้าจัดการ

ข้อควรระวัง!!!
ราคาค่าบริการทำ VISA Registration จะอยู่ในช่วง 0-300 RUB
ถ้าเกินกว่านี้ให้สันนิษฐานว่า เข้าใจผิด 😑
เพราะรัสเซียมีวีซ่าอีกประเภทนึง
ก็คือวีซ่าขอเข้าเมืองน่ะแหละ

ตามเว็บจะเขียนว่า VISA Support
คือเหมือนให้เจ้าบ้าน หรือรร. เขียนเอกสารเชิญเราเข้าประเทศ
เพื่อให้เราขอวีซ่าเข้ารัสเซียได้ง่ายขึ้น (ซึ่งคนไทยไม่ต้องใช้ไง)
เท่าที่แอบไปส่องมา ราคา 1000+ RUB เลยทีเดียว 😱

ใบ Registration



ระบบไฟฟ้า 🍀 

ไฟฟ้าในรัสเซีย ใช้ไฟ 220โวลล์ เหมือนบ้านเรา
แต่ปลั๊กเป็นแบบขากลม 2 ขาและเต้าเสียบจะเป็นรูกลม 2 รู
ดังนั้นจึงต้องใช้ Adapter แปลงเสียก่อน




เงินรัสเซีย 🍀 

สกุล: รูเบิล RUB
แบงค์ : 5, 10, 50, 100, 500, 1000, 5000
เหรียญ : 1, 2, 5, 10
เรทที่เราไปอยู่ในช่วง 0.58 - 0.6





เวลาแลก ให้แจ้งร้านว่า ขอแบงค์ย่อย เอาแบงค์ย่อยไปให้เยอะที่สุด
เพราะที่รัสเซีย แบงค์ใหญ่ ใช้งานยากมาก คนไม่ค่อยรับ
ซื้อของ 50 จ่ายแบงค์ 100 ก็ทำหน้าดุใส่เราแล้ว แถมบ่นๆ ไรไม่รู้อีก 😓

เงินที่เหลือกลับมา



 🍀 ภาษา

คนที่นี่พูดภาษารัสเซียเป็นหลัก ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ
ถ้าพูดก็ฟังยากมาก ร เรือ ชัดเจนกว่าคนไทยอีก

ป้ายและเอกสารส่วนใหญ่ก็เป็นภาษารัสเซีย
ดังนั้น แนะนำว่า ควรเรียนตัวอักษรภาษารัสเซียไว้บ้าง
เอาไ้ว้อ่านพวก ป้ายต่างๆ ที่เป็นคำทับศัพท์ ถ้าจำได้ ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ



แต่สำหรับคนที่ยังกังวล
แนะนำให้ทำบัตรคำภาษารัสเซียไว้ พวกชื่อสถานี สถานที่ หรือศัพท์สำคัญๆ ต่างๆ

เวลาจะใช้ ก็ยื่นให้คนรัสเซียอ่านเลย
อย่าพยายามไปอ่านออกเสียงเอง ชีวิตจะอนาถเปล่าๆ



ควรพกสมุด กับปากกาไว้ด้วย
เผื่อเวลาต้องให้เค้าบอกราคา หรือเขียนโน๊ตให้



การเดินทาง 🍀

ค่อนข้างสะดวกนะ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ
มีรถเมโทร รถบัส รถตู้ เรือ Uber
เดินทางง่าย ราคาไม่แพงเท่าไหร่
(Uber ถูกมาก ถ้าไปกันเยอะๆ แล้วระยะทางไม่ไกลเท่าไหร่ จะถูกกว่าพวกรถบัส รถเมโทร)

สถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ สามารถเดินทางไปถึงได้โดยรถสาธารณะ



🍀 อาหารการกิน

บอกยาก เพราะไม่ค่อยได้กินอาหารท้องถิ่น
จะเน้นเป็นสเต็ก เบอร์เกอร์ไรงี้มากกว่า
แต่เท่าที่เคยสัมผัสมา จะออกมันๆ เค็มๆ หน่อย
ราคาไม่แพงมาก แต่ก็เทียบกับข้าวแกงบ้านเราไม่ได้ มื้อนึงถูกๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 100 บาท

น้ำ ไม่มีน้ำแข็งให้นะ
อย่าเผลอสั่งโค้กแก้วใหญ่ ในร้านเบอร์เกอร์คิง
เพราะแก้วนั้น มันจะอัดแน่นไปด้วยโค้กล้วนๆ กินจนพุงจะแตก

ร้านฟาสฟู้ด จะไม่แถมซอสแบบบ้านเรา ถ้าจะเอาต้องจ่ายเพิ่ม

น้ำอัดลมราคาเท่าน้ำเปล่า (หรืออาจจะถูกกว่า)
แถมราคาเหวี่ยงมากด้วย ที่เจอคือ 40 - 150 RUB แล้วแต่สถานที่
เราเจอถูกสุดอยู่ที่ตู้น้ำ ในร้านค้าตรงทางออกสถานีรถเมโทร



ห้องน้ำ 🍀

ที่นี่เรียกว่า ТУАЛЕТ (ตู อา เลียต) หาได้ทั่วไป
แต่มักจะเสียค่าเข้า แพงด้วยนะเออ ค่าเข้าครั้งนึง 20 - 50 RUB 💰

ถ้าเป็นห้องน้ำตามที่สาธารณะ และอยู่นอกอาคาร ก็จะอนาถๆ หน่อย
(ไม่ได้ลองเอง แต่เพื่อนไปลองมาละ)
แล้วทุกที่สภาพจะเหมือนๆ กัน ประหนึ่งผูกขาดสัมปทานอยู่เจ้าเดียว
// ถ้าได้ไปทำงานที่รัสเซีย ไปเปิดห้องน้ำราคาถูก น่าจะเวิร์ค

ห้องน้ำในห้างก็เสียตังค์เช่นกัน แต่สภาพจะดีกว่า
ห้องน้ำฟรีก็มีนะ ตามร้านฟ้าดฟู้ด พวก KFC MC Burger King ร้านอาหารที่เป็นตึกของตัวเอง หรือสถานที่ท่องเที่ยว
ห้องน้ำในสถานีรถไฟ เสียตังค์ค่าเข้า แต่ถ้าโชว์ตั๋วโดยสารรถไฟ จะเข้าฟรี

มีแอพให้โหลดด้วยว่า ตรงไหนมีห้องน้ำ แต่โชคดีทริปนี้ไม่ค่อยได้ใช้ห้องน้ำเท่าไหร่



🍀 ถนนหนทาง

สะอาด และเรียบร้อยมาก
แต่ช่วงนี้ก็มีซ่อมแซมกันหลายจุดมา จนต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินกันบ่อยๆ

การข้ามถนน ส่วนใหญ่จะใช้ทางม้าลาย กับ ทางลอดใต้ถนน
ยังไม่เจอสะพานลอย (ยกเว้นทางเชื่อมตึก)

ส่วนทางม้าลายมีเยอะมาก
ถ้าตรงไหนไม่มีไฟคนข้าม พอเราก้าวไปบนทางม้าลาย รถจะจอดให้อัตโนมัติ
แต่บางทีก็พุ่งมาแบบแรงๆ แล้วมาเบรกตรงทางม้าลายเหมือนกัน (น่ากลัวไปนะ) 😨
ส่วนตรงไหนมีไฟคนข้าม ก็รอนะจ๊ะ (ถึงแม้บางที คนรัสเซียจะเดินฝ่าไฟแดงไปเลยก็เถอะ 555)

จากภาพอุบัติเหตุที่เห็นในแอพแผนที่รัสเซีย
เข้าใจว่าคนที่นี่ คงขับรถใจร้อนน่าดู เจอรถชนกันทุกแยกเลย แต่ดันใจดีกับคนข้ามถนน




คนรัสเซีย 🍀

ดูจะดุๆ หน่อย แต่ก็ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่
และจะทำหน้าดุมาก เวลาเราจ่ายเงินเป็นแบงค์ใหญ่ หรือไปถ่ายรูปเค้าตรงๆ

คนไหนยิ้มจะดูน่ารักมาก
ส่วนใหญ่ ผู้หญิงหน้าตาดี



🍀 การเดินทางข้ามเมือง Moscow-St.Petersburg

เนื่องจากทริปนี้ เราจะไปเที่ยวอยู่ 2 เมือง คือ Moscow และ St. Petersburg
ซึ่งการเดินทางระหว่าง 2 เมืองนี้ ก็มีหลายวิธีให้เลือก

1. เครื่องบิน
สายการบินที่นิยมใช้คือ

► สายการบินไซบีเรียนแอร์ไลน์ (S7)
► สายการบินแอโรฟลอต Aeroflot
ราคาประมาณ 2000 - 4000 บาท
ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม.

เป็นวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุด
แต่ต้องเผื่อเวลาออกจากตัวเมืองไปยังสนามบิน และช่วงเวลารอที่สนามบินด้วย

2. รถไฟ
มีรถไฟระหว่าง Moscow Leningradsky Station กับ St. Petersburg Moskovsky Station
มีรถไฟให้บริการทั้งวัน หลายชนิด

- DOUBLE-DECKER
เป็นรถไฟ 2 ชั้น มีเฉพาะโบกี้ชั้น 2 (1 ห้องมี 4 เตียง)

- EXPRESS
มีตั้งแต่โบกี้ชั้น 2 ไปจนถึง VIP First Class

- GRAND EXPRESS
มีแต่โบกี้ VIP : Premium, Grand, Imperial และ Grand Deluxe

- MEGAPOLIS
มีเฉพาะโบกี้ชั้น 1 และ ชั้น 2

- RED ARROW
มีตั้งแต่โบกี้ชั้น 2 ไปจนถึง VIP First Class
เป็นรถที่ค่อนข้างใหม่ และคนนิยมนั่ง

- SAPSAN
รถไฟความเร็วสูง ใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชม.
มีตั้งแต่โบกี้ชั้น 2 ไปจนถึง Premium First Class

- SMENA-A.BETANKUR
มีตั้งแต่โบกี้ชั้น 3 ไปจนถึงชั้น 1

- TWO CAPITALS
มีตั้งแต่โบกี้ชั้น 3 ไปจนถึงชั้น 1

ราคาแตกต่างกันตามประเภทของรถไฟและโบกี้
รถไฟตู้นอนตั้งแต่ชั้น 2 ไป จะเป็นห้องแยกๆ สามารถล็อคประตูได้

รายละเอียด รถไฟแบบต่างๆ
https://www.expresstorussia.com/moscow-to-st-petersburg-train.htm

ซึ่งรถไฟที่คนนิยมใช้บริการ ได้แก่

► รถไฟด่วน High Speed Trains: Sapsan 
ราคาประมาณ 3000 - หลายหมื่น RUB
ใช้เวลาเดินทาง 3.5 - 4 ชม.
มี 8-10 รอบต่อวัน เป็นรอบกลางวัน
เร็วสุด สะดวกสุด ราคาสูงสุด

► รถไฟกลางคืน : Double-Decker หรือ Red Arrow
ราคาประมาณ 1800 - หลายหมื่น RUB
ใช้เวลาเดินทาง 8-10 ชม.
มีหลายรอบต่อวัน (ส่วนใหญ่มีรอบเช้า กับรอบกลางคืน)
รถไฟวิ่งช้า แต่ไม่เสียเวลาเที่ยว ประหยัดค่ารร.ได้อีกด้วย


สำหรับเรา เลือกรถไฟกลางคืน Double-Decker
เพราะราคาไม่แพง เวลาโอเค (ไปดึก ถึงที่หมายตอนเช้า) และประหยัดค่ารร.


จองตั๋วรถไฟ
เราเดินทางไปกลับ Moscow - St.Petersburg โดยรถไฟตู้นอน
จองผ่าน http://pass.rzd.ru/main-pass/public/en
เป็นภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่
แนะนำให้เปิดกับ Chrome แหละ จะได้แปลส่วนที่เหลือให้

ต้องสมัครสมาชิกไว้ก่อน จองล่วงหน้าได้ 60 วัน
(ถ้าเอเจนซี่จะจองล่วงหน้าได้นานกว่านี้ แต่ราคาแพงกว่า 2 เท่า)

การจอง 1 Order สามารถจองได้สูงสุด 4 เตียง
ต้องการข้อมูล Passport ด้วย
1 Passport สามารถจองได้มากกว่า 1 เตียง

ขบวนที่เราเลือก เป็นรถไฟชั้น 2 แบบ 2 ชั้น (Double-Decker train)
ด้านในแต่ละโบกี้ จะแบ่งห้องเป็นห้องๆ
ภาษารัสเซียเรียกว่า Купе อ่านว่า คูเป้  แต่ในเว็บจะใช้คำว่า Compartment

ห้องนึง มีเตียง 2 ชั้น จำนวน 2 เตียง (ห้องนึงมีทั้งหมด 4 เตียง)
มีประตูปิด สามารถล็อคห้องได้





เราไปกัน 9 คน แต่จองไป 12 เตียง เพราะจะเหมา 3 ห้อง
ก็เลยจองไป 3 Order
Order ละ 4 เตียง
(เตียงที่จองทิ้ง ต้องเลือกจ่ายราคาเต็ม แล้วต้องปรินท์ตั๋วสำหรับเตียงนั้นมาด้วย)
จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้
ค่ารถไฟไป-กลับ ตกคนละ 3800 บาท

ขั้นตอนการจองตั๋วอ่านในตอนที่ 13 นะ
ปล. เราไปช่วงปี 2017 ซึ่งก็นานแล้วอ่ะ ตอนนี้ข้อมูลอาจจะไม่ตรงเป๊ะๆ แต่คงพอเป็นไกด์ไลน์ได้บ้าง

การใช้ตั๋ว
หลังจอง จะมี pdf รายละเอียดสำหรับแต่ละที่นั่ง (หรือเตียง) พร้อมบาร์โค้ด
ซึ่งเขียนประมาณว่า สามารถเอาบาร์โค้ดไปใช้ได้เลย

e-ticket


แต่เราเลือกเอาไปปรินท์ตั๋วจริงที่เครื่องออกตั๋วอัตโนมัติ เพื่อความชัวร์
เครื่องออกตั๋วมีอยู่ในสถานีรถไฟเลนินกราด เป็นเครื่องสีแดงๆ
เวลาจะปรินท์ ก็เลือก 1 คนใน Order นั้นๆ มา

กรอก Passport กับเลข e-Ticket ลงไป
เช็ครายละเอียดของคนทั้งหมดใน Order นั้น
แล้วสั่งปรินท์

จะได้ตั๋วของทุกคนใน Order นั้นมาเลย ไม่ต้องแยกปรินท์ทีละคน (เครื่องปรินท์ช้าและดูงงๆ)

ตั๋วรถไฟของจริง



การเข้าพิพิธภัณฑ์ 🍀 

เนื่องจากช่วงที่เราไป เป็นฤดูร้อน และเป็นช่วงพีคของรัสเซีย
เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา ควรจองตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไว้ก่อน
เพราะบางที่ ต้องต่อคิวนานหลายชม.

ส่วนใหญ่จะจองล่วงหน้าได้ไม่นาน และต้องระบุวัน (บางที่ระบุเวลาด้วย)

ตั๋วต่างๆ 

Kremlin ► http://tickets.kreml.ru/en/
เปิดจองล่วงหน้าประมาณ 15 วัน ระบุวันที่เข้าชม

- Tickets for visiting the architectural complex of the cathedral square
เข้าชมรอบๆ อย่างเดียว
ราคา 500 RUB
1 Order ซื้อได้ 10 Tickets ต้องไปแลกตั๋วจริงอีกที

- Ticket to the armoury chamber
เข้าชมห้องสมบัติ Armoury Chamber
ราคา 700 RUB เป็นตั๋วระบุรอบที่จะเข้าชม
1 Order ซื้อได้ 4 Tickets ต้องไปแลกตั๋วจริงอีกที

- ตั๋วเข้าชมห้องเพชร
ไม่มีขายออนไลน์
ต้องซื้อตั๋ว Armoury  ก่อน แล้วเข้าไปซื้อตั๋วเข้าชมห้องเพชร ซึ่งอยู่ในตึก Armoury อีกที

E-Ticket ของ Kremlin เมื่อซื้อแล้ว เวลาใช้ ต้องเอาไปแลกเป็นตั๋วจริงก่อน

ข้อควรระวัง!! เวลาซื้อตั๋วแบบ 1 Order หลาย Tickets
E-Ticket ที่ได้จะมีแค่ 1 ใบ/1 Order เท่านั้น
แล้วเวลาไปแลกตั๋วจริง ก็จะได้ตั๋วจริงมาแค่ใบเดียวเช่นกัน
เป็นตั๋วสำหรับทุก Tickets ใน Order นั้น

เวลาใช้ ก็เอาไปแตะที่เครื่องกั้น ให้ครบจำนวนคน
ดังนั้น หากใครจองพร้อมกัน แต่เข้าไม่พร้อมกัน อาจจะมีปัญหาเรื่องตั๋วได้

e-ticket

ตั๋วจริง ใบนี้ใช้สำหรับ 3 คน


Peterhofhttp://tickets.peterhofmuseum.ru/en/
เปิดจองล่วงหน้าประมาณ 30 วัน ระบุวันที่เข้าชม

-  The Lower Park. Entrance ticket
เข้าชมสวนน้ำพุ
ราคา 750 RUB
1 Order ซื้อได้ 5 Tickets

- Peterhof Palace
ไม่มีขายออนไลน์ ในช่วงหน้าร้อน ต้องไปซื้อที่เคาน์เตอร์

E-Ticket ของ Lower Park ที่ได้มา มีบาร์โค้ดแยกแต่ละ Ticket
เอาไปใช้ได้เลย ไม่ต้องไปแลกตั๋วจริงอีก

e-ticket ที่สามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องเอาไปแลกอีก


Catherine Palacehttp://tkt.tzar.ru/en/
เปิดจองล่วงหน้าประมาณ 30 วัน ระบุวันที่เข้าชม

Catherine Palace historic interiors
เข้าชมส่วนของพระราชวัง และสวน
ราคา 1500 RUB
1 Order ซื้อได้ 4 Tickets

E-Ticket ที่ได้มา ต้องไปแลกตั๋วจริงอีกที

ข้อควรระวัง!! เวลาซื้อตั๋วแบบ 1 Order หลาย Tickets
E-Ticket ที่ได้จะมีแค่ 1 ใบ/1 Order เท่านั้น
แต่เวลาไปแลกตั๋วจริง จะได้ตั๋วมาแยกกันตามจำนวน Ticket ที่ซื้อ

แต่ๆ พอแลกเป็นตั๋วจริงแล้ว ตั๋วก็จะมีเวลาแปะอยู่
ซึ่งเราต้องนำตั๋วจริงนี้ไปใช้เข้าวัง (ในส่วนจัดแสดง) ให้ได้ภายใน 1 ชม.
ไม่งั้นตั๋วจะไม่สามารถใช้งานได้อีก (แค่ตอนจะเข้าวังนะ หลังจากเข้าไปจะอยู่นานแค่ไหนก็ได้)

ถ้าจะเข้าวังไม่พร้อมกัน ก็ไม่ควรจะซื้อตั๋วใน Order เดียวกัน





Winter Palace ► https://www.hermitageshop.ru/tickets/
ตั๋วไม่ระบุวันที่ แต่มีอายุการใช้งานภายใน 180 วัน

อันนี้ไม่ได้จอง เพราะมีคนแนะนำว่าให้ไปซื้อตั๋วที่ตู้อัตโนมัติเอาได้
แต่ซื้อได้เฉพาะราคา 700 RUB
เข้าได้ 3 ตึก Main Museum Complex (Winter Palace), the General Staff, และ Winter Palace of Peter I




การจองและชำระเงิน

ส่วนใหญ่จะใช้ระบบคล้ายๆ กัน
การจองจะใช้ ชื่อ เบอร์โทร e-mail
หลังกดจอง จะมีเวลารอจ่ายเงินประมาณ 1-2 ชม.
สามารถปิดหน้าจองไปได้
เพราะเค้าส่งลิงค์ให้เราสามารถเข้ามาหน้ารายละเอียดการจอง และกดชำระเงินได้



แนะนำว่า ควรแยกจองของใครของมัน
หรือคนนึงไม่ควรจองหลาย Order

ตอนแรก เราคนเดียว จัดการจองทุก Order สำหรับ 9 คน
มันก็จะเยอะๆ หน่อย 😅

ปรากฎว่าโดนบล็อก ไม่สามารถตัดบัตรได้  😱
(ส่วนที่ตัดไปแล้วก็คือสำเร็จแล้ว ไม่มีผลอะไร)

ตอนแรกนึกว่าบล็อคเฉพาะบัตร พอเอาบัตรของคนอื่นมาใช้
บัตรคนนั้นก็โดนบล็อคกันหมดเลย

ทีนี้พอคนนั้นเอาบัตรที่โดนบล็อค ไปจองด้วยชื่อตัวเองบ้าง
ชื่อคนนั้นและบัตรก็จะโดนบล็อคไปด้วยเช่นกัน
แล้วก็โดนกันเป็นลูกโซ่

ต้องหาคนที่ไม่เคยใช้ชื่อกับบัตร ในการจองใดๆ มาเลยมาทำให้
แถมเมล์ไปบอกเค้า เค้าก็ไม่ปลดบล็อคให้นะ 😞

สรุปคือ แยกจ่ายชัวร์สุด ไม่ก็ 1 คน 1 Order ไป ช่วยๆ กันจอง 💪



🍀 รถไฟ AeroExpress

การเข้าเมืองจากสนามบิน DME มีหลายวิธี
► Aero Express (Аэроэкспресс) 
อยู่ฝั่งตรงข้าม Entrance 3 ของสนามบิน
ราคา 500 RUB
ใช้เวลา 45 นาที
ปลายทาง สถานีรถไฟ Paveletsky (Павелецкий вокзал)
ซึ่งเชื่อมต่อกับ สถานีเมโทร Paveletskaya (Павелецкая) สายสีเขียว และสีน้ำตาล

► Bus No. 308A Aэропорт Домодедово (แอโรวพอรท - ดามาเดียดาว่า)
อยู่ฝั่งตรงข้าม Entrance 3 ของสนามบิน
ราคา 120 RUB (โดยประมาณ)
ใช้เวลา 45 นาที (ไม่รวมเวลารถติด)
ปลายทาง สถานีเมโทร Domodedovskaya สายสีเขียว

► Taxi
ราคา เหมา 1000 RUB (ในเขตเมือง)
ใช้เวลา 1 ชม. (ไม่รวมเวลารถติด)
เหมาะกับช่วงเวลาที่รถไม่ติดและมีคนร่วมทางหลายๆ คน

เราเลือกเดินทางด้วย รถไฟ AeroExpress
จากสนามบิน มองหาทางออก 3 ป้ายที่สนามบินจะบอกทางไว้ให้อยู่แล้ว
ออกจากสนามบิน จะมองเห็นสถานีรถไฟเลย

เดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อซื้อตั๋ว
จะได้เป็นกระดาษขาวๆ เหมือนใบเสร็จรับเงิน
จะมี QR Code อยู่
ระบุวัน แต่ไม่ระบุเวลา ไม่ระบุที่นั่ง



เอา QR Code ไปแตะที่เครื่องกั้นเพื่อเข้าไปในชานชาลา
แล้วเอาตั๋วไปถามจนท. ว่าต้องนั่งขบวนไหน

เวลานั่ง ให้หลีกเลี่ยงโบกี้แรกๆ เพราะเป็นของ Business Class
ที่นั่งเป็น 2-3 มีแบ่งเก้าอี้หันหน้า กับ หันหลังด้วย





Sim Card 🍀

การซื้อซิมการ์ดที่รัสเซียสามารถซื้อได้เคาน์เตอร์หรือร้านขายซิมการ์ดตามสนามบิน สถานีรถไฟ และตามย่านร้านค้า มีหลายค่ายให้บริการ

► ค่าย Megafon 



► ค่าย MTC



► ค่าย Beeline


วิธีการซื้อซิมการ์ดในรัสเซีย จะต้องใช้ Passport และใบตม.
เวลาซื้อ ต้องบอกว่า จะใช้เน็ต ที่เมืองไหนบ้าง (เพราะบางค่าย ซิมจะจำกัดให้ใช้เฉพาะเมืองที่ซื้อ)
รวมถึงขนาดของซิมที่ต้องการ
ซื้อได้ตามร้านของค่ายมือถือนั้นได้เลย หรือ จะซื้อตาม Shop ขายมือถือ ที่มีสัญลักษณ์ด้านล่างนี้



แต่แนะนำให้ซื้อจากบูธของผู้ให้บริการโดยตรง เพราะจะชำนาญกว่า

เราเลือกของค่าย Beeline ซื้อที่สถานีรถไฟ Paveletsky
เป็นบูธเล็กๆ เหมือนร้านขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ พนักงานพูดภาษาอังกฤษได้



เลือก แพคเกจ Всё 1 2 Гб/мес. ราคา 300 RUB
ยื่น Passport กับ ใบตม. ของใครก็ได้ 1 คน

พนักงานให้ซิมมา เลือกเบอร์ใกล้กันให้ด้วย 😀
แต่เค้าไม่มีที่จิ้มสำหรับถอดถาดซิมนะ ต้องจัดการเอง

ใส่ซิมเสร็จก็ใช้งานได้ทันที ไม่ต้องลงทะเบียนอะไร
แต่ตอนเปิดซิม มี SMS มาบอกว่า แพคเกจที่เราใช้คือ
แพคเกจ Всё 2 6 Гб/мес. หรือ All 2 6GB/เดือน

ซึ่งตามเมนูที่เค้าให้เราเลือก แพคเกจนี้ราคา 500 RUB
ตรวจดูหลังซิมมันเขียนนะว่า Всё 2 ราคา 300 RUB
แต่ไหง ใบเมนูไม่ตรงกับซิม
ก็ยังงง จนถึงบัดนี้ ว่าตกลง ซื้ออะไรมากันแน่เนี่ย 😕




🍀รถเมโทร


Moscow Metro



สัญลักษณ์เป็นรูปตัว M สีแดง

ปกติค่าโดยสาร คิดต่อเที่ยว เที่ยวละ 55 RUB
ไปไกลแค่ไหนก็ได้ ขึ้นลงกี่รอบก็ได้ หากเรายังไม่ออกจากสถานี

ตอนเข้า แตะบัตรเข้าเครื่องกั้น
ตอนออก เดินตัวปลิวออกไปได้เลย บางทีเจอเครื่องกั้น ไม่ต้องห่วง เดินเข้าไปเลย เดี๋ยวมันเปิดให้เอง

มีบัตรโดยสารแบบเหมาหลายๆ เที่ยว ราคาจะถูกลง
สามารถใช้ร่วมกับคนอื่นได้
เราซื้อแบบ 60 เที่ยว ราคา 1700 RUB มา 2 ใบ (2 * Билет «Единый» : На 60 поездка)



ตอนซื้อ ยื่นรูปให้เค้าดูเป็นบัตรสีแดง (Единый) แต่จนท. ให้บัตรสีฟ้ามา
ส่วนอีกแก๊งค์ อยากได้บัตรสีฟ้า (Тройка - Troika card) แต่ได้สีแดงมาแทน
ทั้งสองใบ ใช้ได้ 60 เที่ยว ราคาใบละ 1700 RUB เท่ากัน ไม่มีค่ามัดจำ

บัตรสีแดง สามารถใช้ร่วมกับ Bus, Trolley Bus และ Tram ได้
แต่บัตรสีฟ้า ไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้ลอง



ชานชาลาและป้ายบอกทาง

ชานชาลาสวยงามสมคำล้ำลือ
แบ่งเป็น 2 ชานชาลา ซ้าย-ขวา ไม่ซับซ้อน

พื้นที่ตรงกลางใช้ร่วมกัน ถ้ายืนผิดชานชาลา ก็แค่หันหลังกลับ แล้วเดินไปอีกฝั่ง
แต่ถ้ารถเมโทรออกนอกเมือง แล้วขึ้นมาบนดิน
ลักษณะชานชาลาจะเหมือนรถ BTS รถเมโทรอยู่ตรงกลาง แล้วแยกชานชาลา 2 ฝั่ง


ป้ายที่พื้น 
จะบอกว่า ทางนี้เป็นทางไปยัง สถานีไหน (บอกชื่อสถานี สีและเลขประจำสาย)
แต่อย่าดูสีของป้าย บางทีก็แยกสีไม่ออก
เพราะโดนเหยียบมานาน สีจางไปแล้ว หรือสีอาจใกล้เคียงกันมาก เช่น สีน้ำเงิน กับสีฟ้า

ให้ดูหมายเลขประจำสาย เช่น สายสีแดง เลข 1 สายสีน้ำเงิน เลข 3 และชื่อสถานีเป็นหลัก
ปกติในแผนที่จะมีเลขกำกับตรงสถานีปลายทาง
ปล. บางสถานี ชื่อเดียวกัน แต่เป็นคนละสาย เช่น Arbatskaya มีทั้งสีฟ้า และสีน้ำเงิน



ป้ายด้านบน
เป็นทั้งป้ายบอก ชานชาลา ทางออก ทางเปลี่ยนสาย

ถ้าบอกทางออก จะใช้คำว่า Выход в город
ถ้าบอกทางเปลี่ยนสาย จะใช้คำว่า Переход на станцию แล้วมีชื่อสถานี สีและเลขประจำสาย กำกับอยู่

เวลาบอกชานชาลา จะบอกว่า รถเมโทรที่ชานชาลานี้ผ่านสถานีไหนบ้าง
แต่บอกเป็นภาษารัสเซียทั้งหมด

บางที สีพื้นของเลขชานชาลา ไม่ตรงกับสีของสายรถเมโทร
เพราะมักจะใช้สีน้ำเงิน ทำเป็นพื้นหลัง จนเราสับสน นึกว่ามาผิดสาย

ให้ดูชื่อแต่ละสถานี หรือสีตรงจุดกลมๆ หน้าชื่อสถานีแทน
ตรงนั้นบอกได้ว่า นี่คือสายสีไหน


ป้ายบอกชื่อสถานีที่ขบวนรถเมโทร แต่ละชานชาลาจะผ่าน
จุดกลมๆ สีน้ำเงินหน้าชื่อสถานีบ่งบอกว่า เป็นสถานีของรถเมโทรสายสีน้ำเงิน
ด้านล่าง บอกทางเชื่อมต่อกับสถานี Borovitskaya

เลขชานชาลา พื้นหลังสีน้ำเงิน
แต่ที่นี่เป้นชานชาลาของสายสีน้ำตาล


นอกจากนี้ ถ้าเราไปยืนที่ชานชาลาบางสถานี
จะเห็นป้ายที่กำแพงฝั่งตรงข้าม เขียนบอกด้วยว่า ขบวนนี้ ผ่านสถานีไหน
และไปเชื่อมต่อกับรถเมโทรสายอื่นที่สถานีไหนบ้าง




การหาทางออก 
ให้หาคำว่า Way out หรือ Выход в город เป็นหลัก แล้วจำสถานที่ หรือถนน ที่เราต้องออก
บางสถานี มีทางออกหลายทาง บางสถานี มีทางออกเดียว

ไม่ต้องพยายามหาลิฟต์ เพราะเค้าไม่อำนวยความสะดวกขนาดนั้น
บางสถานี ถ้าจะออก ต้องเดินขึ้นบันไดอย่างเดียวเลย
แบบที่ดีๆ หน่อย ก็จะเป็นบันไดเลื่อน

แบบทางออกหลายทาง

แบบทางออกเดียว
และบอกทางไปยังสถานีเมโทรสายอื่นๆ ด้วย

ประตูทางเข้า-ออก
ประตูทางเข้าออกสถานีเมโทร แบ่งประตูทางเข้ากับประตูทางออกชัดเจน
ทางเข้า Вход
ทางออก Выход
และประตูหนักมากกกกกก หมดแรงไปเยอะกับการเปิดประตู

ภายในรถเมโทร
มีหลายรูปแบบ สภาพเก่าใหม่ ต่างกันไป
แต่ส่วนใหญ่จะเก่าแล้วนะ
ภายในสะอาด ไม่มีแอร์หรือมีแต่ไม่เปิด บางขบวนมีเปิดช่องหน้าต่างเล็กๆ ด้วย

การดูสถานีถัดไป 
สำหรับในขบวนรถ ส่วนใหญ่ จะมีป้ายบอกสถานีต่างๆ ในสายเมโทรอยู่แล้ว
แต่ละขบวนจะมีวิธีการบอก สถานีถัดไปที่แตกต่างกัน (แม้ว่าจะเป็นสายเดียวกันก็ตาม)

บางขบวน ทันสมัยหน่อย จะใช้ไฟกระพริบๆ บนป้ายเหนือประตูรถเมโทร เพื่อบอกสถานีถัดไป
บางขบวน จะเป็นข้อความวิ่งๆ ตรงประตูระหว่างโบกี้
บางขบวน ใช้วิธีประกาศเสียงตามสาย ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ารถวิ่งเสียงดังมาก

วิธีการที่ดีที่สุด คือ นับสถานี



ข้อควระวัง!!
ควรรีบเข้าไปในรถเมโทรให้เร็วที่สุด
ถ้าคนเยอะ ไม่ต้องฝืนแทรกเข้าไป
ให้รอขบวนถัดไปดีกว่า รถเมโทรมาค่อนข้างถี่
เพราะรถเมโทรที่นี่ ตอนปิดประตู ไม่ค่อยมีเสียงเตือน แล้วเจือกปิดแรงด้วย โดนที ตัวอาจจะขาดได้ 😱

ภายในรถ ไม่ซับพอร์ต คนแคระนะจ๊ะ ราวจับสูงมาก
รถเมโทรก็ดันซิ่งมากด้วย

บันไดเลื่อน
ยาวมากกกกกกกกกกกกก
บางสถานี ใช้เวลาอยู่ที่บันไดเลื่อนเกิน 3 นาที


เว็บหาเส้นทาง
https://metro.yandex.com/



St. Petersburg Metro




สัญลักษณ์เป็นรูปตัว V (แต่เรามองยังไงก็เป็นตัว M อ่ะ แค่โค้งๆ หน่อย)

ปกติค่าโดยสาร คิดต่อเที่ยว เที่ยวละ 45 RUB
ระบบเหมือนใน Moscow

มีบัตรโดยสารแบบเหมาเที่ยวเช่นกัน แต่ส่วนลดน้อยกว่า Moscow
ไม่สามารถใช้งานร่วมกับคนอื่นได้ เพราะมีระยะเวลาในการแตะบัตรครั้งต่อไป
และถ้าซื้อจากสถานีเมโทร จะไม่สามารถใช้กับ Bus, Trolley Bus และ Tram ได้
(จริงๆ ใช้งานได้ เพราะหน้าบัตรเขียนไว้ แต่อาจต้องเติมแยกกัน ในบัตรอาจจะแบ่งว่า เราเติมเที่ยวของยานพาหนะชนิดไหนไว้)

ซื้อแบบ 10 เที่ยว ใช้ได้ 7 วัน (на 10 поездок [7 дней]) ราคา 355 RUB
แต่มีค่ามัดจำใบละ 70 RUB มาคนละใบ

สามารถคืนบัตรได้ แต่ตอนคืน รอนานมาก
เพราะจนท. ต้องเขียนเอกสารกำกับบัตรที่นำมาคืนทุกใบ

ตอนแรกนึกว่าจะได้บัตรใบสีเขียวๆ ตามรีวิว



แต่เหมือนเค้าจะเปลี่ยนรูปไปแล้ว



นอกจากนี้ เรายังสามารถซื้อเหรียญโดยสาร แบบรายเที่ยว
เรียกว่า Талон หรือ Token
ราคาเหรียญละ 45 RUB
วิธีใช้ก็หยอดลงเครื่องกั้นได้เลย



ชานชาลาและป้ายบอกทาง

ชานชาลาลักษณะคล้ายกับใน Moscow
สายสีแดง และสีม่วงมีชานชาลาสวยมาก

ป้ายที่พื้น
เหมือนที่ Moscow มีชื่อสถานี สี และหมายเลข บอกว่า ทางนี้ไปสถานีไหน

ป้ายด้านบน
ทำหน้าที่เหมือนกับใน Moscow

ต่างกันตรง ที่นี่จะเป็นภาษาอังกฤษ!!!
และจะบอกแค่ว่า ชานชาลานี้ รถเมโทรจะวิ่งไปสุดสายที่สถานีไหน
พอเข้าไปยืนที่ชานชาลา ถึงจะมีป้ายที่เสา บอกว่าผ่านสถานีไหนบ้าง คล้ายๆ BTS

ดังนั้น เราอาจจะต้องคอยดูหยิบแผนที่มาดูตลอด
(คนส่วนใหญ่มันจะจำสถานีที่จะลงหรือเปลี่ยนสาย แต่ไม่ค่อยจำปลายทาง)






รายละเอียดอื่นๆ คล้ายกับ Moscow

รถเมโทรสายสีเขียว
ตรงชานชาลา เป็นประตูปิดไว้เลย ไม่ได้เปิดโล่งให้เรามองเห็นรถเมโทรได้
แล้วคนก็จะยืนชิดกับประตูเลย
พอคนประตูเปิดก็รีบๆ เบียดกันเข้าไป และประตูรถเมโทร ปิดเร็วมากกกก

นาฬิกาตรงชานชาลา นับแบบแปลกๆ
คือจะไม่บอกว่า อีกกี่นาทีรถจะมาถึง
แต่จะบอกว่า รถเมโทรที่เพิ่งออกไปนั้น ออกไปได้กี่นาทีแล้ว
(ไม่ได้สังเกตนาฬิกาในมอสโควเลยว่านับยังไง แต่น่าจะเหมือนกัน)


บัตรเมโทร ใน Moscow และ St. Petersburg ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้
เว็บหาเส้นทาง https://metro.yandex.com/spb




Bus, Trolley Bus, Tram 🍀

Moscow
ราคา 55 RUB ตลอดสาย
สามารถใช้บัตรเหมาเที่ยวที่ซื้อในโมโทรได้ จะมีกล่องให้แตะบัตร
แต่ถ้าไม่มีบัตร ก็จ่ายได้ที่คนขับ (ไม่เห็นกระเป๋ารถนะ)

St. Petersburg
ราคา 40 RUB ตลอดสาย
มีบัตรสำหรับแตะได้เช่นกัน แต่ไอ้ที่ซื้อมา มันแตะไม่ได้อ่ะ
ไม่เป็นไร จ่ายเงินกับกระเป๋ารถได้
ได้ตั๋วรถหน้าตาเหมือนของบ้านเราเลย
//ควรนำเสนอกระบอกเก็บตังค์




ปล. ถ้ารถวิ่งนอกเมือง จะเป็นอีกราคานึง เช่น ไป Peterhof ราคา 80 RUB ส่วนมินิบัส 70 RUB

รถค่อนข้างทันสมัย เหมือนรถปอ.
หน้ารถ มีป้ายบอกว่า ป้ายต่อไป ชื่ออะไรด้วย มีทั้งภาษารัสเซียและภาษาอังกฤษ

รถที่นี่ ไม่เปิดแอร์ เปิดหน้าต่างนิดหน่อย ช่วงไหนอากาศร้อน คนเบียดๆ กันนี่ หายใจไม่ออก



🍀 นักล้วง

รัสเซียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อมาก ในเรื่องของการล้วงกระเป๋า
โดนมาเยอะ เจ็บมาเยอะ 😥

แนะนำว่าเตรียมตัวมาดีๆ แต่ไม่ต้องกังวลมาก
เราใช้กระเป๋าเป้สะพายหลังธรรมดาราคาใบละ 100 กว่าบาทเนี่ยแหละ
แต่เอามาสะพายข้างหน้า แล้วตรงซิปก็เอาอะไรคล้องไว้กับสายกระเป๋า



ประมาณว่า ถ้าจะรูดซิป ต้องปลดที่คล้องออกก่อน
มันก็จะยุ่งยากนิดนึง เวลาจะหยิบอะไรออกมา
แต่เราแบ่งเงินส่วนนึง ไว้ซิปด้านนอก

จริงๆ มีกระเป๋าเล็กๆ แบบที่คล้องคอได้
ซึ่งมีหลายคนแนะนำให้คล้องคอแล้วเก็บไว้ใต้เสื้อ (ติดเข็มกลัดด้วย กันโดนตัดเชือก)
แต่เราลองแล้วไม่ถนัดอ่ะ เรายัดใส่ในกระเป๋าเป้นะแหละ
ที่นี่ไม่ค่อยมีพวกวิ่งราวเท่าไหร่ หรือโชคดีก็ไม่รู้สิ 😜



ตอนเดินบนฟุตบาท อย่าเดินติดริมถนน
แล้วพยายามเว้นระยะห่างจากคนรอบตัวประมาณ 1 ช่วงแขน
(แบบว่า เดินคนเดียวบ่อย เลยต้องระวังนิดนึง)

มือถือก็มีสายคล้องแขน
ตังค์ที่แยกออกมาใช้ประจำวัน เก็บไว้ในถุงซิปล็อกสีเงิน จะได้มองไม่เห็นจำนวนเงินที่มี



แอพพลิเคชั่น 🍀

ในยุคดิจิตอล หลายคนก็พึ่งพาข้อมูลจากมือถือใช่ม้า
เราแนะนำแอพเด็ดสำหรับใช้งานที่รัสเซียให้ละกัน



อันดับ 1 Google Translate
อย่าลืมโหลดแป้นพิมพ์ภาษารัสเซีย
เอาไว้จิ้มคุยกะคนรัสเซียนะ

อันดับ 2 2GIS
เป็นแอพลิเคชั่น คล้าย Google Map
แต่ว่าละเอียดกว่า สำหรับโซนรัสเซีย
อย่าลืมดาวน์โหลดแผนที่ออฟไลน์มาด้วย
แอพนี้เริ่ดมาก ในเรื่องการนำทาง



อันดับ 3 Yandex Transport
เป็นเว็บที่ดูการเคลื่อนไหวของรถบัสได้
เผื่อเราอยากรู้ว่า รถบัสสายที่รออยู่ที่ไหน เมื่อไหร่จะมาสักที
// แอพในฝัน อยากให้เมืองไทยมีบ้าง



อันดับ 4 Metro4All + Metro
หลักๆ คือใช้หาเส้นทางรถเมโทร
นอกจากนี้ ยังบอกทางออกด้วย ว่าต้องออกทางไหน แล้วทางออกนั้น ตั้งอยู่ตรงไหนของแผนที่
(ปกติเราจะดูว่าทางออก จะต้องไปหัวขบวน หรือท้ายขบวน)


Metro4All



Metro




อันดับ 5 Uber
อย่างที่บอก ราคาถูก แล้วช่วงฤดูร้อนที่รัสเซีย กว่าจะมืด ก็ปาไป 4-5 ทุ่มแล้ว
เผื่อคนที่อยากจะล่าแสงสียามค่ำคืน จะได้กลับดึกๆ ได้โดยไม่ต้องกังวล



🍀 คำแนะนำอื่นๆ 🍀


◉ เพื่อความสะดวก ควรปรินท์แผนที่เมโทรแบบสีๆ ไว้ด้วย จะได้ง่ายต่อการพกพาและค้นหา

◉ การซื้อของที่รัสเซีย เช่น ซุปเปอร์มาร์เกต หรือร้านค้าต่างๆ มักไม่มีถุงพลาสติกใส่ของให้ ถ้าจะเอาต้องเสียตังค์เพิ่ม ให้นำถุงไปเอง

◉ หากไปช่วงไฮซีซั่น ควรเผื่อเวลาต่อแถวซื้อตั๋วด้วย หรือจองตั๋วล่วงหน้ามาเลย ราคาแพงขึ้นนิดหน่อยแต่สบายกว่า แถมประตูทางเข้าหรือคิวเข้าพิพิธภัณฑ์ ก็มักจะแยกออกจากคิวของตั๋วที่มาซื้อที่เคาน์เตอร์ด้วย

◉ ตามสถานีเมโทรหรือสถานีรถไฟทุกแห่งในรัสเซียค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการตรวจค้นสัมภาระ บางทีสะพายกระเป๋าใบใหญ่ๆ ก็โดนสุ่มเรียกได้ แต่ไม่ต้องกลัว เค้าทำเพื่อความปลอดภัย

◉ ของฝากยอดฮิต คือ ตุ๊กตามาโตรสก้าหรือตุ๊กตาแม่ลูกดก (MATRYOSHKA) ซึ่งทำมาจากไม้ ราคาก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสวยงาม ซึ่งมีตั้งแต่ตัวละ 150 - หลายหมื่น RUB ซื้อที่ตลาด Izmailovo จะราคาถูกกว่าที่อื่น นอกจากนี้ ตลาดนี้ยังมีของที่ระลึกอื่นๆ ขายในราคาที่ไม่แพงมาก ใกล้ๆ สถานียังมีพวกช็อคโกแลตขายด้วย




จบแล้วจ้า 😁
เดี๋ยวตอนต่อไปมารีวิวที่เที่ยวบ้าง
อาจจะมีเนื้อหาจากบทนี้ไปแปะไว้ในตอนอื่นๆ ด้วย

ค่าใช้จ่าย หมดไปทั้งสิ้นประมาณ 32,000 บาท (รวมทุกอย่างแล้ว)
แลกเงินไป 35,000 RUB เหลือกลับมา 19,500 RUB นอกนั้นจ่ายที่ไทย

ปล. รูปและเนื้อหาส่วนนึงค้นมาจากอินเตอร์เน็ต




ตอนอื่นๆ

ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 1 บทนำ
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 2 ตะลุยมอสโคว เยือนถิ่นปูติน (Day 1)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 3 ทัวร์เมโทร ชมห้องสมบัติ สัมผัสโบสถ์สีลูกกวาด (Day 2)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 4 ตะลอนทัวร์ St.Petersburg (Day 3)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 5 วังน้ำพุ Peterhof (Day 4)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 6 Catherine Palace (Day 5)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 7 Winter Palace (Day 6)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 8 Sergiev Posad (Day 7)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 9 ตะลอนไปทั่วมอสโคว (Day 8)
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 10 รีวิว Kremlin Lights Hostel (Кремлевские Огни) @Moscow
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 11 รีวิว Baby Lemonade Hostel @St. Petersburg
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 12 รีวิว Fasol Hostel (Хостел Фасоль) @Moscow
ʕ•ᴥ•ʔ ♡ โหดสัส รัสเซีย ตอนที่ 13 รีวิว รถไฟระหว่างเมือง Moscow-St.Petersburg

ความคิดเห็น

  1. โครตตตตตละเอียด น้องๆ ไกด์บุ้คเลย ไว้จะไปตามอ่านตอน 2

    ตอบลบ
  2. ละเอียดที่สุดของกระทู้เที่ยวรัสเซียที่เคยอ่านมา เป็นประโยชน์มากๆ ครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณค่ะ แต่อย่าลืมหารีวิวใหม่ๆ อ่านนะคะ เพราะบางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 5555 เช่นเว็บจองรถไฟ ตอนนี้หน้าตาไม่ค่อยเหมือนเดิมแล้ว

      ลบ
  3. ขอบคุณมากเลยค่ะ รีวิวละเอียดมาก ให้ข้อมูลเยอะมากค่ะ
    เป็นประโยชน์กับการวางแผนเที่ยวของเรามาก ^^

    ตอบลบ
  4. ได้ข้อมูลเยอะมากเลยค่ะ ^_^

    ตอบลบ
  5. ข้อมูลละเอียดมาค่ะ ขอบคุณที่เอามาแชร์

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่คุณให้!
    เที่ยวรัสเซีย

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ʕ•ᴥ•ʔ ♡ ยืนงงในดงจีน ปี 2 : ประสบการณ์การซื้อยา Diamox ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

☞ ประสบการณ์ทำเควส "ตรวจสุขภาพ ศูนย์แพทย์พัฒนา" ☜

มาเลือกกระเป๋าเดินทาง กันเถอะ